พิธีการแห่ขันหมาก


          หาก มีเสียงโห่ร้อง เสียงตีกลอง พร้อมด้วยขบวนถือกล้วย อ้อย เป็นที่ทราบกันดีว่ากำลังมีหนุ่มสาวกำลังจะจูงมือเข้าพิธีหมั้นหรือแต่ง งานอย่างแน่นอน อะๆ แต่เดี๋ยวนี้คู่บ่าวสาวหลายคู่เชียวที่ละเลย แถมไม่ค่อยสนใจ พิธีการแห่ขันหมาก ประเพณีแต่งงาน ดีๆ ของไทย อาจเพราะเห็นเป็นของคร่ำครึโบราณ หรือเปลืองเงินเปลืองทอง ประมาณว่าไม่มีขันหมากพวกฉันก็แต่งงานได้  

          หยุด!! หยุดค่ะ หยุดคิดเช่นนั้น เพราะการแห่ขันหมากเป็น เครื่องแสดงความเคารพต่อพ่อแม่ฝ่ายเจ้าสาว และสื่อให้เห็นว่าฝ่ายเจ้าบ่าวยกย่องให้เกียรติสู่ขออย่างครบถ้วนตามประเพณี ยินดีต้อนรับเข้าเป็นสมาชิกในครอบครัว ดังนั้น วันนี้กระปุกเวดดิ้งจึงนำเรื่องของขันหมากแบบร่วมสมัย มาฝากคู่บ่าวสาวสมัยใหม่ที่ (ยัง) อยากยกขันหมากตามประเพณีแบบไทยๆ กันค่ะ ...

  ว่าด้วยเรื่องของขันหมาก...
ขันหมาก
เป็นสิ่งจำเป็นในพิธีการแต่งงาน ซึ่งฝ่ายชายจะต้องเตรียมมาโดยจัดเป็นขบวนแห่มาบ้านฝ่ายหญิงในวันพิธีที่จัด งานในช่วงเช้า แล้วแต่ฤกษ์จะเป็นเวลาใด หรืออาจจะใช้ฤกษ์สะดวก ซึ่งปัจจุบันจะไม่เคร่งครัดนัก ขันหมากที่ฝ่ายชายจะเตรียมมาแห่ขันหมากนั้น ประกอบไปด้วยสิ่งต่อไปนี้
1. ขันหมากเอก จะจัดเป็นขันเดี่ยวหรือขันคู่แล้วแต่ประเพณีนิยมของแต่ละท้องถิ่นส่วนใหญ่จะ มีขันใส่หมากพลู ขันใส่เงินทองหรือสินสอด และขันใส่สิ่งของอันเป็นมงคล เช่น ถั่ว งา ข้าวเปลือก ใบเงิน ใบทอง ดอกรัก ดอกบานไม่รู้โรย ดอกดาวเรือง ดอกกุหลาบ ฯลฯ ส่วนใหญ่จะดูความหมายที่เป็นมงคล และนิยมจัดเป็นคู่ จะทำให้ดูสวยงามและเป็นมงคลโดยถือเคล็ดจากคำว่า “คู่” นั่นเอง
2. ขันหมากโท ได้แก่ พวกของที่ใช้เป็นอาหารและขนม รวมทั้งบริวารขันหมากอื่น ๆ เช่น เหล้า ต้นกล้วย ต้นอ้อย นิยมจัดเป็นคู่ ๆ เช่นเดียวกัน มีการนำกระดาษสีแดงมาประดับตกแต่งให้สวยงาม แต่ประเพณีบางแห่งก็จะไม่เอาอาหารซึ่งอาจจะเป็นหมูสามชั้น และขนมที่ใช้ในงานแต่งงาน เพราะเอาความสะดวกจะไม่ค่อยเคร่งนัก แต่ที่ขาดไม่ได้คือเหล้า ต้นกล้วย และต้นอ้อย
     ขันหมาก คือ ขันใส่หมากพลูที่เชิญไปพร้อมกับของอื่นๆ ในพิธีหมั้นหรือแต่งงาน เป็นเครื่องคารวะผู้ปกครองฝ่ายหญิง รูปแบบของการจัดขันหมากจะขึ้นอยู่กับธรรมเนียมปฏิบัติของแต่ละท้องถิ่น แม้แต่ต่างตระกูลก็ยังอาจมีรายละเอียดที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งปัจจุบันนิยมยกขันหมากครั้งเดียวในวันหมั้น เพื่อช่วยให้พิธีสง่างามมีความหมาย และเป็นสิริมงคลยิ่งขึ้น  อีกทั้งจะได้ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยเกินไปในวันแต่งงาน ผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าวจะเป็นผู้จัดเตรียมขันหมากและเครื่องประกอบ ได้แก่ พานหรือขันสินสอดทองหมั้น พานแหวน เตียบขนม ผลไม้ ต้นกล้วย และต้นอ้อย ตลอดจนสิ่งของอื่นๆ ตามที่เห็นสมควร ปกตินิยมจัดเป็นจำนวนคู่แปดหรือสิบพาน
  

          ในขันหมากจะใช้ขันน้ำพานรอง นอกจากจะมีหมากทั้งผลและใบพลู แล้วก็ยังจะต้องมีเหรียญเงิน เหรียญทอง ใบแก้ว ใบเงิน ใบทอง ใบรัก และถุงแพรสีเงินทองขนาดเล็กบรรจุถั่วงา เรียงให้สวยงามพูนขึ้นมาเหนือปากขัน แล้วใช้กรวยใบตองครอบ ห่อด้วยผ้าลูกไม้โปร่งเพื่อจะได้ไม่ตกหล่นเสียหายระหว่างทาง 

          สำหรับสินสอดทองหมั้นนั้น ถ้าไม่รวมเอาไว้ในขันหมาก จะจัดแยกออกมาเป็นพานเดียวหรือสองพานก็ได้ ตกแต่งให้สวยงามและห่อด้วยผ้าลูกไม้โปร่งลักษณะเดียวกับขันหมาก  

          พานแหวนนิยมใช้ใบตอง และกุหลาบมอญประดิษฐ์เป็นกลีบประกอบเข้าเป็นดอกไม้ขนาดใหญ่สองหรือสามชั้น วางกล่องกำมะหยี่ใส่แหวนไว้ตรงกลาง  

  ขนมมงคลที่ใช้ในขบวนขันหมาก 
  

          เลือกจากชื่อที่ไพเราะ และมีความหมายดี เช่น จ่ามงกุฏ สเน่ห์จันทน์ ฝอยทอง ทองเอก ทองหยิบ ทองหยอด ขนมกง และขนมชั้น เป็นต้น ขนมเหล่านี้จัดทำอย่างประณีต อบควันเทียม และดอกไม้หอมกรุ่น หรือเลือกขนมที่ชอบใจนำมาจัดลงในกระทงใบตองจีบขนาดย่อม แล้วเรียงลงในเตียบหรือพานขนาดใหญ่  จัดไว้สองเตียบเป็นคู่กัน ครอบด้วยใบตอง และใช้ฝาชีหรือผ้าโปร่งลูกไม้คลุมอีกชั้นหนึ่ง  

          แต่ ขันหมากบางท้องถิ่นจะจัดขนมเป็นชิ้นใหญ่วางไว้ในถาด ครอบชิ้นขนมด้วยกรวยแป้งโปร่งย้อมสีสดอย่างสีแดง เขียว ชมพู ม้วนเป็นทรงฝาชี และมักจะมีขนมจันอับแบบจีนเสริมมา เพราะเป็นขนมหวานธัญพืช สื่อถึงความหอมหวาน และความเจริญงอกงาม ซึ่งอาจจัดผลไม้ไปในขบวนด้วยก็ได้ ผลไม้ที่นิยมกันก็คือ กล้วย ส้ม และมะพร้าวที่มีผิวสวยไร้ตำหนิ  

          ส่วนเครื่องประกอบขันหมากที่ไม่ควรขาดไปก็คือ ต้นกล้วยและต้นอ้อยอย่างละ 2 ต้น เลือกหน่ออ่อนที่เริ่มจะผลิใบเป็นต้นเล็กๆ ให้มีรากติดมาด้วย จัดต้นกล้วยต้นอ้อยปักในพาน แต่งด้วยกระดาษสี และดอกไม้พวงมาลัย เมื่อเสร็จพิธีแล้วคู่บ่าวสาวจะต้องนำไปปลูกและดูแลให้เจริญงอกงามด้วย  

          ทั้งนี้ การจัดขันหมากจะสวยงามวิจิตรบรรจงเพียงไร ก็ขึ้นกับความต้องการของฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาว หากชอบความเรียบง่ายจะจัดแต่พองาม แต่ถ้าหากต้องการให้ขันหมากสวยเป็นพิเศษ เห็นคงจะต้องพึ่งร้านดอกไม้หรือช่างฝีมือที่รับจัดขันหมากโดยเฉพาะ...รับรอง สวยงามแท้ๆ ค่ะ 

   ขบวนขันหมาก  

         

          ขั้นตอน 

          เมื่อ ขบวนขันหมากมาถึงหน้าบ้านเจ้าสาว หรือสถานที่จัดพิธี ฝ่ายเจ้าสาวจะส่งเด็กๆ และญาติพี่น้องออกมากั้นขบวน โดยจะนำสร้อยเงินทอง เข็มขัดทอง มาใช้แทน เชือกกั้น จากนั้นเถ้าแก่ฝ่ายชายจะทำหน้าที่จ่ายเงินใน ซอง (ส่วนใหญ่จะนิยมใช้สีชมพู) ให้กับผู้กั้นขันหมากเป็นเงินจำนวนไม่มากไม่น้อยเกินไป จนเมื่อผ่านเข้าไปได้แล้ว ก็จะมีเด็กจากทางฝ่ายหญิงยกพานรับขันหมากออกมาต้อนรับ ซึ่งพานรับขันหมากของฝ่ายเจ้าสาวจะเป็นพานใบเล็ก บรรจุหมากพลู บุหรี่ และ ไม้ขีด ตามธรรมเนียมการต้อนรับผู้มาเยือน เด็กผู้ยกพานจะออกมาพร้อมกับผู้ใหญ่หรือเถ้าแก่ฝ่ายหญิงเพื่อพูดจาต้อนรับ จากนั้นเถ้าแก่ฝ่ายชายจะรับพานมา อาจจะหยิบหมากหรือบุหรี่ ออกมา ก่อนส่งพานคืนให้เด็กพร้อมกับซองเงิน เด็กก็จะเดินนำไปยังที่นั่งซึ่งฝ่ายหญิงจัดไว้  

          เด็กหญิงที่ยกขันหมากจะต้องระวังไม่วางขันลงเลย จนกว่าจะมีผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวมารับไปจัดวางเตรียมทำพิธี ต่อ เพราะโบราณถือว่าเมื่อคนยกขันหมากแล้ววางทิ้งไว้ จะทำให้หมั้นแล้วไม่ได้แต่ง เมื่อลงนั่งและจัดวางขันหมากเรียบร้อยแล้ว เถ้าแก่ก็จะเจรจากันในทำนองว่าเป็น "วันดี วันมงคล จึงยกขันหมากมาขอหมั้น" จากนั้นฝ่ายหญิงก็จะตรวจดู แหวน สินสอด และ ทองหมั้น พร้อมทั้งเปิดขันหมากออกแกะถุงถั่วงาคลุกกับเหรียญเงิน เก็บไว้ สำหรับนำไปปลูกและแบ่งไว้บูชาที่หิ้งพระในเรือนหอ 

          หลัง จากตรวจนับสินสอดทองหมั้นเป็นที่พอใจแล้ว เถ้าแก่จะเรียกเจ้าสาวออกมากราบไหว้ผู้ใหญ่ รอถึงเวลาฤกษ์ จึงสวมแหวน จากนั้นก็มอบพวงมาลัยและของชำร่วยให้แขกเหรื่อ ก่อนจะรับประทานอาหารร่วมกัน เมื่อเสร็จพิธีแล้วฝ่ายหญิงจะมอบขนมขันหมากให้แก่ฝ่ายชายครึ่งหนึ่ง เพราะเป็นพิธีหมั้นและเมื่อจะคืนถาดและพานให้แก่เจ้าของ ก็มักจะใส่ขนมหรือสิ่งของไปด้วย อย่างไรก็ตาม สาวโสดบางคนที่ไม่ใช่เจ้าสาวก็ไม่ค่อยกล้าชิมขนม ขันหมาก เนื่องจากมีความเชื่ออยู่ว่าอาจจะทำให้กลายเป็นสาวแก่  

          เห็น ไหมค่ะขั้นตอนง่ายๆ เพียงเท่านี้ ก็ทำให้การแต่งงานตามแบบประเพณีไทยสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีแล้วค่ะ แม้จะมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่ก็ยังคงความซาบซึ้งประทับใจไม่เสื่อมคลาย

..พิธีรดน้ำสังข์ พิธีหลั่งน้ำสังข์..

1. เครื่องประกอบพิธีหลั่งน้ำสังข์ 
.
          ชุดพิธีสงฆ์ จะประกอบไปด้วยอุปกรณ์สำหรับประกอบพิธี มีชุดโต๊ะหมู่ พรมรองนั่ง กระโถน แก้วน้ำ ธูป ดอกไม้ พร้อมชุดอาหารเลี้ยงพระ 2 วง  แป้งเจิม และด้ายสายสิญจน์
.
ชุดหลั่งน้ำพระพุทธมนต์  ประกอบด้วย 
 - พวงมาลัยบ่าวสาว 
 - มงคลแฝด 
 - พานรดน้ำ (พานที่ใช้วางหอยสังข์) ชุดตั่ง หรือถ้านั่งพื้นสามารถ ใช้พรมรองนั่งได้ 
 - หมอนรองมือ 
 - พานพุ่มดอกไม้สำหรับรับ น้ำสังข์ 
 - ของชำร่วย 
 - ดอกไม้ประดับ 2 ข้าง เพื่อภาพถ่ายที่สวยงาม อาจจะมีดอกไม้ประดับ ด้านข้างซ้ายและขวา
.
2. พิธีการ
.
     1)  เมื่อได้ฤกษ์ เจ้าภาพหรือผู้แทนนำคู่สมรสเข้าห้องพิธีฯ พร้อมด้วยเพื่อนของคู่สมรสเชิญประธานในพิธีฯ เข้าประกอบพิธีฯ โดยคู่สมรสทำความเคารพประธานฯ ก่อนเป็นการเบื้องต้น 
     2)  ประธานฯ รับเทียนชนวน จุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัยในขณะนี้ คู่สมรสยืนประนมมือระลึกถึง คุณพระรัตนตรัยและอธิฐานจิต ที่จะอยู่ครองคู่กันด้วยความซื่อสัตย์สุจริตตลอดไป 
     3)  เมื่อประธานฯ จุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย และกราบพระเรียบร้อยแล้ว คู่สมรสกราบ พระรัตนตรัยแล้วเข้าไปนั่งยังตั่งสำหรับรอรดน้ำสังข์ 
     4)  ประธานฯ รับพวงมาลัย 2 ชาย คล้องให้แก่คู่สมรสตามลำดับ
     5)  คู่สมรสวางแขนทั้ง 2 ข้างของแต่ละคนบนหมอนรอง ประนมมือยื่นออกไปตรงขันรองน้ำ 
     6)   ประธานฯ รับมงคลแฝดสวมศีรษะคู่สมรส รับเครื่องเจิมและเจิมหน้าผากคู่สมรส แล้วรับสังข์หลั่งน้ำพระพุทธมนต์ให้สืบไป
     7)  เมื่อประธานฯ หลั่งน้ำพระพุทธมนต์แล้ว เจ้าภาพหรือผู้แทนฯเชิญแขกเข้ามาหลั่งน้ำสังข์ติดต่อกันไป 
     8)  เสร็จการหลั่งน้ำสังข์แล้ว เจ้าภาพหรือผู้แทนฯ เชิญประธานฯ หรือแขกผู้มีอาวุโสถอดมงคลแฝด หรือเจ้าภาพจะถอดเองก็ได้ แล้วมอบมงคลแฝดให้แก่คู่สมรส 
     9)  คู่สมรสลุกขึ้นจากตั่งที่นั่งแล้วเข้าไปกราบพระรัตนตรัยและทำความเคารพท่านผู้ถอดมงคลแฝด
     10) เสร็จพิธีฯ แล้ว เจ้าภาพหรือผู้แทนฯ นำคู่สมรสออกไปกราบประธานฯ และทำความเคารพแขก ผู้มาอวยพร เพื่อแสดงความขอบคุณที่ท่านได้กรุณาประกอบพิธีและอำนวยพร
 .                                        
- เสร็จพิธี – 
.
3.  เคล็ดลางความเชื่อ
 .
           ในเรื่องเกี่ยวกับพิธีรดน้ำสังข์นี้นะคะ ถือเคล็ดลางกันว่า หากเสร็จสิ้นแล้วฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งลุกขึ้นก่อน โบราณว่าผู้นั้นจะเป็น ใหญ่ในครอบครัว ด้วยเหตุนี้ผู้ใหญ่มักจะบอกให้ทั้งสองฝ่ายช่วยกันประคับประคองกันลุกขึ้นแทน ที่จะยุให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดลุกขึ้นก่อน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อไปค่ะ อันนี้ก็แล้วแต่ความเชื่อ
.
4.  ทำไมต้อง หอยสังข์ 
.
            สังข์ หรือหอยสังข์นั้น ประชาชนชาวไทย ต่างก็มีความนับถือกันว่า เป็นของที่เป็นอุดมมงคลอย่างสูงยิ่ง และในงานพิธี ีมงคลต่าง ๆ ซึ่งจัดขึ้นในบ้านเรือนของประชาชนชาวไทยเรา เช่น งานมงคลสมรส เป็นต้น เราก็มักจะได้พบหอยสังข์ ซึ่งใช้เป็นที่ หลั่งน้ำแด่คู่บ่าวสาวเพื่อจะทำให้อยู่เย็นเป็นสุข หอยสังข์  นั้น  นอกจากจะใช้เป็นเครื่องหลั่งน้ำ เพื่อให้มีความสุขความเจริญแล้ว ยังใช้เป่าเพื่อให้ได้ยินเสียง ให้เกิดความเป็นสิริมงคลอีกด้วย บางตำนานและ บางความเชื่อก็ว่าที่เรานำหอยสังข์มาใช้ใน พิธีรดน้ำสังข์ ก็เพราะว่า สังข์ คือหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 14 อย่าง อันเกิดจากการกวนเกษียรสมุทรของเหล่าเทวดาและอสูร จึงถือเป็นของสิริมงคลสำหรับคู่บ่าวสาว ส่วนประเพณีการใช้น้ำพระพุทธมนต์บรรจุในสังข์ ก็โดยเหตุที่คนไทยเป็นพุทธศาสนิกชน ดังนั้นน้ำที่เกิดจากการ เจริญพระพุทธมนต์ จึงถือเป็น สิ่งมงคล ยิ่ง จึงทำให้ในพิธีแต่งงานได้นำน้ำมาบรรจุในหอยสังข์ การรดน้ำสังข์ จึงเสมือนเป็นการอวยพรให้คู่บ่าวสาวมีแต่ความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตคู่
.
5.  ตำนานสังข์
.
             สำหรับประวัติและความเป็นมาของ หอยสังข์ ซึ่งนิยมกันว่าเป็นอุดมมงคลสูง จนทำให้ต้องนำมาใช้ในงานมงคลต่าง ๆ ก็มีที่มาจากเรื่องเล่าเป็นปรัมปราต่อกันมาว่า มียักษ์ตนหนึ่งชื่อว่า สังข์อสูร ยักษ์ตนนี้ได้มาพบพระพรหม ในขณะที่บรรทม หลับอยู่และมีพระเวทต่าง ๆ ไหลออกมาจากพระโอษฐ์ ก็ให้เกิดความอิจฉา จึงได้ขโมยเอาพระเวทต่าง ๆ นั้นไปเสียเพื่อที่ พวกพราหมณ์จะได้ไม่มีพระเวทเป็นเครื่องสวดอ้อนวอนพระพรหมและเทพเจ้าองค์อื่น ๆ ได้อีก แต่ในขณะเดียวกันนั้นพระนารายณ์ผู้เป็นเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นการกระทำของ ยักษ์สังข์อสูรนั้นทุกประการจึงติดตามไปเพื่อจะเอาพระเวท นั้นกลับคืนมา เมื่อยักษ์สังข์อสูรเห็น พระนารายณ์ติดตามตนมาในระยะกระชั้นชิด เช่นนั้นก็เห็นว่าเป็นการจวนตัวจึงได้กลืน พระเวททั้งหมดลงไปไว้ในท้องของตน แล้วกระโดดลงไปในน้ำมหาสมุทรดำน้ำ หนีหายไป 
.
             เมื่อพระนารายณ์เห็นดังนั้น จึงได้เนรมิตร่างของพระองค์ให้เป็นปลาใหญ่ เที่ยวค้นหาตัวยักษ์สังข์อสูรเพื่อจะจับตัวไว้ให้ได้ก่อนที่ยักษ์สังข์อสูร นั้นจะทำลาย พระเวท ให้หมดไปจากโลก ในที่สุดพระนารายณ์ก็จับตัวยักษ์สังข์อสูรเอาไว้ได้ แล้วจึงทวงถามเอาพระเวทคืน แต่ยักษ์สังข์อสูรนั้นไม่ได้มีการเจรจาโต้ตอบแต่ประการใด   ได้แต่นิ่งเฉยอยู่เท่านั้น เมื่อพระนารายณ์ผู้เป็นเจ้าพิจารณาดูไปก็ได้ ้ทราบว่ายักษ์สังข์อสูรได้กลืนเอาพระเวทเข้าไว้ในท้องของตน จึงได้เอาพระหัตถ์บีบที่ปากของยักษ์สังข์อสูร จนเนื้อที่ปากนั้นปริออกมาตามระหว่างนิ้วของพระองค์แต่เมื่อทรงเห็นว่ายักษ์ สังข์อสูรนั้นยังไม่ยอมคืนพระเวทอีก จึงได้ทรงเอานิ้ว พระหัตถ์ล้วงเข้าไป ในท้องของสังข์อสูรแล้วทรงค้นหาพระเวทซึ่งอยู่ในท้องของสังข์อสูร เมื่อทรงเอาพระเวทกลับคืนออกมาจากท้อง ของยักษ์สังข์อสูรได้จนหมดเรียบร้อยทุกพระคัมภีร์แล้ว
.
             พระนารายณ์ผู้เป็นเจ้าจึงได้ทรงสาปยักษ์สังข์อสูรนั้นว่า ขอให้เจ้าจงมีสภาพ ร่างกายเป็นอย่างนี้และจงอยู่แต่ในน้ำสืบไป อย่าได้ขึ้นมาบนบกอีกต่อไปเลย เมื่อชาวมนุษย์ทำงานมงคลใด ๆ จึงค่อยมาจับเอา ตัวเอ็งไปร่วมในงานพิธีมงคลนั้นด้วย เมื่อทรงสาปแล้วได้ทรงทิ้งร่างของยักษ์สังข์อสูร นั้นลงไปใน ในมหาสมุทรทันที แล้วจึงได้เอา พระเวทนั้นมาส่งคืนให้แก่พระพรหมผู้เป็นเจ้าของเดิม เมื่อยักษ์สังข์อสูรนั้นอยู่ในน้ำมหาสมุทรเนิ่นนานเข้าจึงได้กลับกลายมาเป็น หอยสังข์ และมีสภาพเหมือนกับคำที่พระนารายณ์ได้สาปไว้ทุกประการ ตามบริเวณร่างกายของหอยสังข์นั้น ได้มีรอยนิ้วพระหัตถ์ของพระนารายณ์ผู้เป็นเจ้ายังปรากฏอยู่ในขณะที่พระองค์ ทรงบีบปากเพื่อค้นหาคัมภีร์พระเวทเมื่อครั้งแรก และที่ปากของหอยสังข์จึงเป็นรอยยาวออกมานั้น ก็เพราะพระนารายณ์ท่านลากคัมภีร์พระเวทต่าง ๆ ออกมาทางปากครั้น เมื่อถึงเวลาจะทำพิธีมงคลต่าง ๆ จึงจะนำหอยสังข์นั้นมาเข้าร่วมอยู่ในงานพิธีมงคล อย่างพิธีแต่งงานเพราะหอยสังข์เคยเป็นที่บรรจุพระเวทต่าง ๆ ไว้ในท้องของตนจนครบทุกประการนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น